วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา




วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน

ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสา - ขบุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ
1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก
ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยา

การ ปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา


ลักษณะการ ปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

เมื่อสิ้นสุดสมัยสุโขทัย การปกครองของประเทศก็เปลี่ยนไปจากการปกครองพ่อปกครองลูก มาเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งไทยได้รับอิทธิพลมาจากขอม และขอมก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง กษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช นั้น ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดและเต็มที่ เมื่อมีพระบรมราชโองการใดๆ ใครจะวิจารณ์หรือโต้แย้งไม่ได้ เพราะฐานะของกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเปรียบเสมือนสมมติเทพ ไม่ใช่อยู่ในฐานะของพ่อดังเช่นสมัยสุโขทัย การปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ถือว่า กษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ในพระราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน หรือแม้กระทั่งชีวิต พระราชอำนาจของกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีมากมาย แต่ก็มีขอบเขตภายใต้หลักธรรมของพระพุทธศาสนา

ธรรมมะที่สำคัญที่ พระมหากษัตริย์พึงปฏิบัติมีดังต่อไปนี้

ทศพิธราชธรรม คือ ธรรมะ 10 ประการ ของพระเจ้าแผ่นดิน

1. ทาน การให้
2. สีล ความประพฤติ
3. ปริจจาค การบริจาค
4. อาซซว ความเที่ยงตรง
5. มททว ความละมุนละไม
6. ตป การขจัดเผาผลาญความชั่ว
7. อกโกธ ความไม่โกรธ
8. อหิงสา ความไม่เบียดเบียนกัน
9. ขนติ ความอดทน
10. อวิโรธน ความไม่ประพฤติผิดธรรม

ธรรมะ 4 ประการ ได้แก่
1. พิจารณาความชอบหรือความผิดแห่งผู้กระทำให้เป็นประโยชน์และมิได้เป็นประโยชน์ แก่พระองค์
2. รักษาพระนครและขอบฑสีมา ให้สุขเกษมโดยยุติธรรม
3. ทะนุบำรุงบุคคลผู้มีศีลธรรม
4. เพิ่มพูนพระราชทรัพย์โดยยุติธรรม

พระราชจรรยานุ วัตร 12 ประการ คือ พระราชจรรยานุวัตรอันเป็นที่ตั้งแห่งกายยึดเหนี่ยวน้ำใจประชาชน ได้แก่
1. ควรพระราชทานโอวทและอนุเคราะห์ข้าราชการอาณาประชาราษฎรทั้งในและนอกพระราช อาณาจักร
2. ความทรงผูกพระราชไมตรีกับนานาประเทศ
3. ควรทรงสงเคราะห์พระราชวงศ์ตามควรแก่พระอิสริยยศ
4. ควรทรงเกื้อกูลพราหมณ์ คหบดีและคหบดีชน
5. ควรทรงอนุเคราะห์ประชาชนโดยสมควรแก่ฐานานุรูป
6. ควรทรงอุปการะสมณพราหมณ์ผู้มีศีลประพฤติชอบ
7. ควรทรงอนุรักษ์ฝูงเนื้อและนกโดยไม่ให้ผู้ใดเบียดเบียนทำอันตรายจนสูญพันธุ์
8. ควรทรงห้ามชนทั้งหลายไม่ให้ประกอบกิจที่ไม่ชอบด้วยความธรรม ชักนำให้ตั้งอยู่ในกุศลจิต ประกอบการเลี้ยงชีพโดยทางธรรม
9. ควรพระราชทานทรัพย์แก่ผู้ที่หาเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแต่ขัดสนตาม สมควร
10. ควรเสด็จเข้าไปใกล้สมณพราหมณ์ ตรัสถามถึงบุญบาปกุศลให้ประจักษ์ชัด
11. ควรทรงตั้งวิรัติห้ามจิตไม่ให้เกิดอธรรมราคะในอคนียสถาน
12. ควรทรงประหารวิสมโลภเจตนา ห้ามจิตประรถนาลาภที่ไม่ควรได้



หัวข้อ
ระบบการปกรองของกรุง ศรีอยุธยาตอนต้น


ระบบการปกครองของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้รับแบบอย่างมาจากสุโขทัย และจากขอมนำมาปรับปรุงใช้ ลักษณะการปกครองสมัยนั้นแบ่งเป็น
1. การปกครองส่วนกลาง คือการปกครองภายในราชธานี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอมแบบแผน
ที่ได้รับมาเรียกว่า “จตุสดมภ์” ซึ่งประกอบด้วย
1.1 เมืองหรือเวียง มีขุนเมือง เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ปกครองดูแลท้องที่และราษฎร ดูแลความสงบเรียบร้อย ปราบปรามโจรผู้ร้าย และลงโทษผู้กระทำความผิด
1.2 วัง มีขุนวัง เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับงานในราชสำนักและพระราชพิธีต่างๆ พิจารณาพิพากษาคดีต่าง ของราษฎรด้วย
1.3 คลัง มีขุนคลังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เก็บและรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินอันได้จากอากร นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศอีกด้วย
1.4 นา มีขุนนา เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ดูแลการทำไร่นา รักษาเสบียงอาหารสำหรับทหาร ออกสิทธิที่นา และมีหน้าที่เก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง คือใครทำนาได้ก็ต้องแลกเอาเข้ามาส่งฉางหลวง

2. การปกครองส่วนภูมิภาค คือการปกครองพระราชอาณาเขต กรุงศรีอยุธยาได้แบบแผนมาจากครั้งกรุงสุโขทัย โดยการแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่


2.1 หัวเมืองชั้นใน มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเมืองป้อมปราการด่านชั้นในสำหรับป้องกันราชธานีทั้ง 4 ทิศ เรียกว่า เมืองลูกหลวง ซึ่งอยู่ห่างจากราชธานี เป็นระยะทางเดิน 2 วัน
ทิศเหนือ คือ เมืองลพบุรี
ทิศใต้ คือ เมืองพระประแดง
ทิศตะวันออก คือ เมืองนครนายก
ทิศตะวันตก คือ เมืองสุพรรณบุรี
นอกจากนั้น ยังมีหัวเมืองชั้นในตามรายทางที่อยู่ใกล้ๆ กับเมืองลูกหลวง เช่น เมืองปราจีน เมืองพระรถ(เมืองพนัสนิคม) เมืองชลบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เป็นต้น และถ้าเมืองใดเป็นเมืองสำคัญก็จะส่งเจ้านายจากราชวงศ์ออกไปครอง


2.2 เมืองพระยามหานคร หรือหัวเมืองชั้นนอก คือ เมืองใหญ่ที่อยู่ห่างจากหัวเมืองชั้นในออกไป
ทิศตะวันออก คือ เมืองโคราชบุรี(นครราชสีมา) เมืองจันทบุรี
ทิศใต้ คือ เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา และเมืองถลาง
ทิศตะวันตก คือ เมืองตะนาวศรี เมืองทะวาย เมืองเชียงกราน



2.3 เมืองประเทศราช หรือเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สันนิษฐานว่า คงจะมีแต่เมืองมะละกากับเมืองยะโฮร์ทางเแหลมมลายูเท่านั้น ส่วนกัมพูชานั้นต้องปราบกันอีกหลายครั้ง จึงจะได้ไว้ในครอบครอง และในระยะหลังต่อมาสุโขทัยก็ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาด้วย
เมืองประเทศราช มีเจ้านายของตนปกครองตามจารีตประเพณีของตน แต่ต้องกราบบังคมทูลให้กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแต่งตั้ง



ระบบกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ลักษณะการตั้งกฎหมายในตอนแรกๆ นั้นทำเป็นหมายประกาศอย่างละเอียด ขึ้นต้นบอกวัน เดือน ปี ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ใครเป็นผู้กราบบังคมทูลคดีอันเป็นเหตุให้ตรากฎหมาย พระเจ้าแผ่นดินยืดยาวเกินไป จึงตัดข้อความที่ไม่ต้องการออก แต่ต่อๆ มา กฎหมายมีมากขึ้น ก็ยากแก่การค้นห้า จึงตัดข้อความลงอีก ซึ่งพราหมณ์ชาวอินเดียเป็นผู้นำมาสอนให้ทำ อนุโลมตามแบบพระมนูธรรมศาสตร์ อันเป็นหลักกฎหมายของอินเดีย เช่น ลักษณะโจร ลักษณะผัวเมีย

กฎหมายสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)
ในระหว่าง พ.ศ. 1894-1910 ได้มีการพิจารณาตรากฎหมายขึ้นทั้งหมด 10 ฉบับ คือ
1. กฎหมายลักษณะพยาน พ.ศ. 1894
2. กฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ. 1895
3. กฎหมายลักษณะรับฟ้อง พ.ศ. 1899
4. กฎหมายลักษณะลักพา พ.ศ. 1899
5. กฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์ พ.ศ. 1901
6. กฎหมายลักษณะโจร พ.ศ. 1903
7. กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน พ.ศ. 1903
8. กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 1904
9. กฎหมายลักษณะผัวเมีย(เพิ่มเติม) พ.ศ. 1905
10. กฎหมายลักษณะโจรว่าด้วยสมโจร พ.ศ. 1910


ตัวอย่างกฎหมาย

กฎหมายลักษณะลักพา มีอยู่บทหนึ่งว่าด้วยเรื่องทาส ดังนี้ ผู้ใดลักพาข้าคนท่านขายให้แก่คนต่างประเทศ คนต่างเมือง ฯลฯ พิจารณาเป็นสัจ ท่านให้ฆ่าผู้ร้ายนั้นเสีย ส่วนชาวต่างประเทศนั้นให้เกาะจำไว้ฉันไหมโจร
แต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเป็นมิตรกันนั้น มีผู้ลักพาทาสในกรุงศรีอยุธยาหนีขึ้นไปเมืองเหนือ พวกเจ้าเงินกราบทูลพระเจ้าอู่ทองขอให้ไปติดตามเอาทาสกลับมา แต่พระเจ้าอู่ทองกลับมีพระราชดำรัสให้ว่ากล่าวเอาแก่ผู้ขายนายประกันเท่า นั้น กฎหมายลักษณะผัวเมียในสมัยนั้น ชายมีภรรยาได้หลายคน และกฎหมายก็ยอมรับ กฎหมายจึงแบ่งภรรยาออกเป็น


1. หญิงอันบิดามารดากุมมือให้ไปเป็นเมียชาย ได้ชื่อว่าเป็นเมียกลางเมือง (เมียหลวง)
2. ชายขอหญิงมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยาหลั่นเมียหลวงลงมา ได้ชื่อว่าเมียกลางนอก
3. หญิงใดทุกข์ยาก ชายช่วยไถ่ได้มาเห็นหมดหน้า เลี้ยงเป็นเมียได้ชื่อว่า เมียกลางทาสี

การศาลสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนต้น
เกี่ยวกับการพิจารณาคดีในสมัยพระจ้าอู่ทองนั้น ได้อยู่ในอำนาจของเสนาบดีจตุสดมภ์ดังนี้
1. เสนาบดีกรมเมือง พิจารณาพิพากษาคดีอุกฉกรรจ์ที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นภายในแผ่นดิน
2. เสนาบดีกรมวัง พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทของราษฎร
3. เสนาบดีกรมคลัง พิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับพระราชทรัพย์
4. เสนาบดีกรมนา พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับ ที่นา โคกระบือ เพื่อระงับข้อพิพากของชาวนา



ลักษณะ การปกครองสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยา


ลักษณะการปกครองกรุงศรีอยุธยาใน ระยะนี้ ยังคงใช้ระบบการปกครองสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นหลัก จนกระทั่งถึงสมัยพระเพทราชา ซึ่งเป็นสมัยที่บ้านเมืองไม่สงบเกิดกบฎขึ้นบ่อยครั้ง เพราะทหารมีอำนาจมากในขณะนั้น และอำนาจทางทหารตกอยู่ในความควบคุมของสมุหกลาโหมแต่เพียงผู้เดียว ดังเช่นในสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช สมุหกลาโหมเป็นกบฎแย่งชิงราชสมบัติและตั้งตัวเป็นกษัตริย์คือ พระเจ้าปราสาททอง เป็นต้น จึงทำให้สมเด็จพระเทพราชาหวาดระแวงพระทัย เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในสมัยของพระองค์ เพื่อเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ พระองค์ตัดสินใจจัดระบบการปกครองใหม่เป็นบางส่วนดังนี้

สมุหกลาโหม แต่เติมเคยควบคุมเกี่ยวกับทางทหารทั่วประเทศ ให้เปลี่ยนมาเป็นควบคุมผู้บังคับบัญชาทหารและพลเรือนในแถบหัวเมืองฝ่ายใต้

สมุหนายก เดิมเคยควบคุมเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือน ให้เปลี่ยนมาควบคุมผู้บังคับบัญชาทั้งทางทหารและพลเรือนในแถบหัวเมืองฝ่าย เหนือ

ในกรณีที่เกิดสงคราม ในหัวเมืองฝ่ายใด ผู้บังคับบัญชาการหัวเมืองฝ่ายนั้นต้องเป็นแม่ทัพใหญ่ ดำเนินการต่อสู้ โดยเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพเตรียมทหารและเสบียงอาหาร เป็นต้น


การที่เปลี่ยนจากระบบมีอำนาจเต็มทางทหารแต่ฝ่ายเดียว ของสมุหกลาโหม มาเป็นระบบแบ่งอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้สมุหนายกและสมุหกลาโหมควบคุมและแข่งขันกันทำราชการไปในตัว


การปกครองของเมืองหลวงยังคงใช้ระบบการปกครองในสมัยสมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถ แต่มีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็เฉพาะหัวเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่านั้น เช่น ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ทรงสร้างหัวเมืองชั้นในขึ้นอีกหลายเมือง ได้แก่ นนทบุรี นครชัยศรี ฉะเชิงเทรา สาครบุรี และสระบุรี ทำให้อาณาเขตราชธานีขยายกว้างออกไปอีก ส่วนหัวเมืองประเทศราชนั้นไม่แน่นอน ถ้าสมัยใดพระมหากษัตริย์มีอำนาจก็จะมีเมืองขึ้นหลายเมือง ถ้าอ่อนแอเมืองขึ้นต่างๆ ก็จะแข็งเมืองไม่อยู่ในอำนาจต่อไป
การปกครองท้องถิ่นก็ยังคงใช้แบบเดียวกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

การทหาร
ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์ทรงเห็นข้อบกพร่องในทางการทหาร จึงจัดระเบียบและปรับปรุงแก้ไขส่วนที่บกพร่องให้ดียิ่งขึ้น โดยพระองค์ทรงดำเนินการปรับปรุง ดังนี้

๑. ทำสารบัญชี โดยการตั้งเป็นกรม แบ่งงานออกเป็น
๑.๑ สุรัสวดีกลาง
๑.๒ สุรัสวดีขวา
๑.๓ สุรัสวดีซ้าย

๒. มีการแต่งตำรายุทธพิชัยสงคราม เพื่อใช้เป็นหลักในการทำสงครามให้ถูกยุทธวิธี ซึ่งเป็นตำราที่ใช้ยึดเป็นหลักปฏิบัติกันมาจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา

ชายฉกรรจ์ ที่มีสัญชาติไทย มีหน้าที่ดังนี้

1. เมื่ออายุได้ 18 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นไพร่สม ต่อเมื่ออายุ 20 ปี จึงจะรับราชการเป็นไพร่หลวง และอยู่ในราชการจนกว่าจะอายุครบ 60 ปี จึงจะถูกปลด แต่ถ้ามีบุตรชายและส่งเข้ารับราชการ 3 คน ให้บิดาพ้นราชการได้

2. ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องมีสังกัดอยู่ในกรมใดกรมหนึ่ง ลูกหลานผู้สืบสกุลต้องอยู่ในสังกัดเดียวกัน ถ้าจะย้ายสังกัดต้องขออนุญาตก่อน

3. ในเวลาที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไพร่หลวงจะต้องเข้าประจำการปีละ 6 เดือน เรียกว่า เข้าเวร และจะต้องหาเสบียงของตนเองมาด้วย การเข้าเวรนี้จะเข้าเวร 1 เดือน แล้วออกเวรไปทำมาหากิน 1 เดือนแล้วจึงกลับมาเข้าเวรใหม่ สลับกันจนครบกำหนด

4. หัวเมืองชั้นนอก ที่อยู่ห่างไกลในยามปกติ ไม่ต้องการคนเข้ารับราชการมากเหมือนในราชธานี จึงใช้วิธีเกณฑ์ส่วนแทนการเข้าเวร โดยการนำของที่ทางราชการต้องการ เช่น ดินประสิว แร่ดีบุก ฯลฯ มาให้กับทางราชการแทนการเข้าเวร


แบบทดสอบออนไลน์

ประวัติการปกครองของไทย สมัยกรุงสุโขทัย


การปกครองของสมัยกรุงสุโขทัย


สุโขทัย หมายถึง รุ่งอรุณแห่งความสุข ของชาวไทยในอดีตเมื่อ 700 ปี ที่ผ่านมาเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว การเกิดขึ้นของอาณาจักรสุโขทัยนับว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานของชาติไทยในสุวรรณภูมิ อย่างเป็นปึกแผ่นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


แม้กรุงสุโขทัยจะมีอายุยืนนานถึง 200 ปี มีพระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงสืบต่อกันมา 9 รัชกาล แต่สุโขทัยก็มีอิสระเฉพาะ 120 ปีแรก ช่วงที่เจริญที่สุดคือ ในสมัยรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังในศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า "กลาง เมืองสุโขทัย สร้างป่าหมาก ป่าพลูทั่วทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลาย ในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้" กลางเมืองสุโขทัย มีตระพังโพย สีใสกินดีดังกินโขงเมื่อแล้ง มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีเถร มหาเถร.."


ในปี พ.ศ.1792 - พ.ศ.1981 ราชอาณาจักรไทยได้สถาปนาขึ้นเป็นกรุงสุโขทัย สมัยสุโขทัยเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ พ่อขุนแห่งกรุงสุโขทัยทรงเป็นประมุขและทรงปกครองประชาชนในลักษณะ "พ่อปกครองลูก" คือ ถือพระองค์องค์เป็นพ่อที่ให้สิทธิและเสรีภาพ และใกล้ชิดกับราษฎร มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยและส่งเสริมความสุขให้ราษฎร ราษฎรในฐานะบุตรก็มีหน้าที่ให้ความเคารพเชื่อฟังพ่อขุน


พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงดำเนินการปกครองประเทศด้วยพระองค์เอง โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ช่วยเหลือในการปกครองต่างพระเนตร พระกรรณ และรับผิดชอบโดยตรงต่อพระองค์ อาณาจักรสุโขทัยได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ได้รวบรวมหัวเมืองน้อยเข้าไว้ในปกครองมากมาย ยากที่จะปกครองหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เองได้อย่างทั่วถึง การเมืองการปกครองต่างๆ ในสมัยนั้นอาจจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ

1.การปกครองส่วนกลาง
ส่วนกลาง ได้แก่ เมืองหลวงและเมืองลูกหลวง เมืองหลวง คือสุโขทัยนั้นอยู่ในความปกครองของพระมหากษัตริย์โดยตรง เมืองลูกหลวง เป็นเมืองหน้าด่านที่อยู่รายล้อมเมืองหลวง 4 ทิศ เมืองเหล่านี้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสไปปกครองได้แก่


1)ทิศเหนือ
เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก)


2)ทิศตะวันออก
เมืองสองแคว (พิษณุโลก)


3) ทิศใต้
เมืองสระหลวง (พิจิตร)


4) ทิศตะวันตก
เมืองกำแพงเพชร (ชากังราว)


2.การปกครองหัวเมือง
หัวเมือง หมายถึงเมืองที่อยู่นอกอาณาเขตเมืองลูกหลวง มี 2 ลักษณะ คือ


1)หัวเมืองชั้นนอก เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลจากกรุงสุโขทัย หรืออยู่รอบนอกของเมืองหลวงบางเมือง มีเจ้าเมืองเดิม หรือเชื้อสายของเจ้าเมืองเดิมปกครองบางเมือง พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงแต่งตั้ง เชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไว้วางพระราชหฤทัยไปปกครอง บางครั้งเรียกหัวเมืองชั้นนอกว่า เมืองท้าวพระยา มหานคร

2)หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองภายนอกพระราชอาณาจักร เมืองเหล่านี้มีกษัตริย์ของตนเองปกครอง แต่ยอมรับในอำนาจของกรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยเป็นเพียงเจ้าคุ้มครอง โดยหัวเมืองเหล่านี้จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย และส่งทหารมาช่วยรบเมื่อทางกรุงสุโขทัยมีคำสั่งไปร้องขอ

แบบทดสอบหลัีงเรียน