ก้าวทันโลกศึกษา 2 หน่วยการเรียนรู้ที่1

กฏหมายของไทย




กฎหมายคืออะไร




พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดคำนิยามความหมายของคำว่า “กฎหมาย” ไว้ว่า



“กฎหมาย” (กฎ) น. กฎ ที่สถาบัน หรือ ผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐ ตราขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นจาก จารีตประเพณี อันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อ ใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อ ใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือ เพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือ ระหว่างบุคคลกับรัฐ



จากข้อความในคำนิยามดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ทุกถ้อยคำ ทุกข้อความ ที่ผู้เขียนขีดเส้นใต้ไว้ ล้วนมีความหมายที่สามารถนำมาแปลและอธิบายขยายความแล้วเกิดความเข้าใจได้ดีทั้งสิ้น ถ้าเราหยิบยกเอาถ้อยคำแต่ละคำที่เป็นคำศัพท์ภาษาหนังสือไทย ขึ้นมาพิจารณาและค้นหาความหมาย จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นว่า ราชบัณฑิตสถาน ได้ให้คำนิยามคำว่า “กฎหมาย” ไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทุกแง่มุม ซึ่งอาจแยกเป็นหัวข้อเรื่องให้วิเคราะห์ความหมายได้ ๔ หัวข้อ เพื่อทราบความหมายโดยละเอียดของคำว่า “กฎหมาย” ดังนี้



(๑).กฎหมายเป็น .กฎ (ซึ่งจะต้องหาความหมายของคำว่า “กฎ” ต่อไป)

(๒). ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย ได้แก่ สถาบัน หรือ ผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐเท่านั้น

(๓) ประเภทของกฎหมาย

กฎหมายมี ๓ ประเภท คือ .

(ก) กฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ (กฎหมายที่กำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ)

(ข).กฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (กฎหมายแพ่งและพาณิชย์)



(ค).กฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพื่อกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด (กฎหมายอาญา)

(๔).กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ



๑.กฎหมายเป็น กฎ
คำว่า “กฎ” เป็นภาษากฎหมายซึ่งราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดคำนิยามไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน หากเราไม่ค้นหาความหมายจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ เราจะไม่สามารถทราบความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “กฎ” และ คำว่า “กฎหมาย” ได้เลย



ผู้เขียนจะได้คัดลอกคำศัพท์ ของคำว่า กฎ เอามาให้ทราบ พร้อมด้วยถ้อยคำที่เกี่ยวข้องด้วยดังนี้



“กฎ” (กฎ) น. ข้อกําหนด หรือ ข้อบัญญัติ ที่ บังคับ ให้ต้องมีการปฏิบัติตาม เช่น กฎกระทรวง กฎหมาย;



จะเห็นได้ว่า แม้เราได้ทราบความหมายของคำว่า “กฎ” ตามคำนิยามแล้ว แต่ถ้าเรายังไม่ทราบความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องทุกคำ เราก็ยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริงและละเอียดถี่ถ้วนอยู่ดี ถ้อยคำดังกล่าวได้แก่



“ข้อกำหนด” น. ข้อความ ที่ระบุเป็นหลักเกณฑ์ หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ หรือ ดําเนินการ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง.



“ข้อความ” น. เนื้อความตอนหนึ่ง ๆ, ใจความสั้น ๆ ของเรื่อง.



“ข้อบัญญัติ” (กฎ) น. กฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้นเพื่อใช้บังคับในเขตขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา.



“บทบัญญัติ” (กฎ) น. หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมาย.

“บังคับ” ก. ใช้อํานาจสั่งให้ทําหรือให้ปฏิบัติ; ให้จําต้องทํา เช่น อยู่ในที่บังคับ; ให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น บังคับเครื่องบินให้ขึ้นลง.



จากคำนิยามของถ้อยคำต่างๆเมื่อตีความถ้อยคำต่างๆดังกล่าวทำให้เราได้ความรู้ต่อไปอีกว่า



๑.จากคำว่า “ข้อกำหนด” และ “คำว่า “บทบัญญัติ” ทำให้ได้ทราบว่ากฎหมายของประเทศไทยเรานั้นเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร มิใช่ กฎหมายจารีตประเพณี และทำให้ตีความได้ต่อไปอีกว่า การบัญญัติกฎหมายไทย ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร คือต้องทำเป็นตัวหนังสือ

๒.ตัวหนังสือในกฎหมายนั้น เป็น ข้อความ ที่ระบุเป็นหลักเกณฑ์ หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ หรือ ดําเนินการ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

๓.ข้อความ ที่เป็นหลักเกณฑ์ หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ หรือ ดําเนินการ ต้องมีสภาพบังคับ กล่าวคือ จะต้องมีการใช้อํานาจ สั่งให้ทํา หรือให้ปฏิบัติ หรือให้จําต้องทํา

๔.กฎหมายเกิดขึ้นจากการตราขึ้น หรือบัญญัติขึ้น โดยผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ และกฎหมายอาจเกิดขึ้นจาก จารีตประเพณี อันเป็นที่ยอมรับนับถือด้วย

ด้วย


 ปัญหาที่ควรพิจารณาว่า

(๑).อำนาจสูงสุดในรัฐคืออะไร และ

(๒).ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศคือผู้ใด (สถาบันใด หรือบุคคล หรือคณะบุคคลใด)



(๑).อำนาจสูงสุดในรัฐคืออะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดคำนิยามของคำว่า “อธิปไตย” ไว้ว่า



“อธิปไตย” น. อํานาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน



อำนาจสูงสุดในรัฐ จึงหมายความถึง อำนาจที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งมีอยู่ ๓ อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ



รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓ บัญญัติว่า



มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทาง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และ ศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ (อำนาจอธิปไตยจึงไม่มีอำนาจอื่นใดอีกนอกจากอำนาจทั้ง ๓ อำนาจนี้)



(๒).ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐคือใคร

คำตอบ ที่ผู้เขียนค้นพบมีว่า เนื่องจากประเทศไทยในอดีตมีการปกครองด้วย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในการบริหารประเทศ อำนาจอธิปไตย เป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว พระราชโองการ หรือพระบรมราชโองการ เป็นคำศักดิสิทธิ์ มาจากพระดำรัสสั่งของพระมหากษัตริย์ ถือเป็นกฎหมาย และยังมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากนั้นได้มีการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินโดยคณะบุคคลที่เรียกชื่อต่างๆกันอีกหลายครั้ง เช่น คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นต้น คณะบุคคลเหล่านี้เมื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้แล้ว ได้ประกาศยกเลิก รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แล้วออกประกาศคำสั่งของคณะบุคคลที่เรียกชื่อต่างๆเหล่านั้นออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย และมีการยอมรับกันเป็นกฎหมายจนบัดนี้ยังคงใช้เป็นกฎหมายอยู่ ทั้งรัฐบาล และศาลก็ยังถือว่า เป็นกฎหมายและบังคับบัญชาให้ เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ เรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ เป็นต้น



ที่มาของกฎหมายไทยจึงไม่เหมือนกับประเทศอื่น ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศที่มีอำนาจตรากฎหมายได้ ๖ สถาบันได้แก่



๑. พระมหากษัตริย์ หรือพระเจ้าแผ่นดิน หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระบรมราชโองการมีผลเป็นกฎหมาย.



๒. คณะรัฐประหาร คณะปฏิวัติ หรือคณะบุคคลที่เรียกชื่อย่างอื่น คณะบุคคลดังกล่าวคือ คณะบุคลที่ใช้กำลังยึดอำนาจการปกครอง และเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ประกาศของคณะปฏิวัติมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย (เริ่มมีการปฏิวัติหรือรัฐประหารครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕) ประกาศ ของคณะปฏิวัติ หลายฉบับยังมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายอยู่ในปัจจุบันนี้. (พ.ศ.๒๕๔๘)



๓.สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายถึง ที่ประชุม ของคณะบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งจากบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติในสภา ( ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มีสภาผู้แทนราษฎร สภาเดียว ยังไม่มี วุฒิสภา)

แต่ในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๘) “สภาผู้แทนราษฎร” คือ สภานิติบัญญัติสภาหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกับวุฒิสภาแล้วประกอบเป็นรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๔๐) สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๕๐๐ คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น จำนวน ๑๐๐ คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน ๔๐๐ คน มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามระบบการปกครองแบบรัฐสภา.



“ผู้แทนราษฎร” น. บุคคลที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ทําหน้าที่นิติบัญญัติในสภา, (ปาก) ผู้แทน.



๔. รัฐสภา องค์กรนิติบัญญัติ ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย ประกอบด้วยวุฒิสภา และ สภาผู้แทนราษฎร.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๙๒)

“วุฒิสภา” (กฎ) น. สภานิติบัญญัติสภาหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกับสภาผู้แทนราษฎรแล้วประกอบเป็นรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๔๐) วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน ๒๐๐ คน ตามวิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ.

“สภาผู้แทนราษฎร” (กฎ) น. สภานิติบัญญัติสภาหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกับวุฒิสภาแล้วประกอบเป็นรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๔๐) สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๕๐๐ คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น จำนวน ๑๐๐ คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน ๔๐๐ คน มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามระบบการปกครองแบบรัฐสภา.

“ผู้แทนราษฎร” น. บุคคลที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ทําหน้าที่นิติบัญญัติในสภา, (ปาก) ผู้แทน.

๕. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มี สภานิติบัญญัติสภาเดียว (ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช ๒๕๓๔ กำหนดให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ)



๖.คณะรัฐมนตรี คณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อ ทําหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน.



ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน ๓๕ คน เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๑๘ ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ตราพระราชกำหนดใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ)



๒. กฎหมายแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท

จากคำนิยามของคำว่า “กฎหมาย” และจากความหมายของถ้อยคำที่เป็นชื่อของกฎหมาย ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ทำให้ทราบว่า กฎหมายไทย แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆได้แก่



(๑) กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน (ทางวิชาการเรียกว่า “กฎหมายปกครอง”



(๒) กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อบังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ สถานภาพ สิทธิ หน้าที่ และ ความรับผิดตามกฎหมายของบุคคล ( ทางวิชาการ นักวิชาการเรียกว่า “กฎหมายเอกชน” )



(๓) กฎหมายที่กําหนดลักษณะของการกระทํา ที่ถือว่า เป็นความผิด และกําหนดบทลงโทษทางอาญา สําหรับความผิดนั้น (กฎหมายอาญา)







(๑) กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน (กฎหมายปกครอง)

“กฎหมายปกครอง” (กฎ) น. กฎหมายสาขาหนึ่งของกฎหมายมหาชนที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบในทางปกครองของรัฐ และการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองในการจัดทำบริการสาธารณะรวมทั้งวางหลักความเกี่ยวพันในทางปกครองระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชน. (อ. administrative law).



การบริหารงานทุกประเภทจะต้องมีการสั่งการ การติดตามผลงาน การควบคุมดูแล ซึ่งจะต้องใช้อำนาจบังคับบัญชาเพื่อให้การงานบรรลุผล กฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการจึงต้องให้อำนาจบังคับแก่ผู้มีหน้าที่บริหาร ที่จะดำเนินการบังคับให้ผู้อื่นจำต้องปฏิบัติตาม แม้จะไม่สมัครใจก็ตาม กฎหมายประเภทนี้จึงแบ่งบุคลออกเป็นสองฝ่ายคือ

ก. ฝ่ายที่เป็นผู้บริหาร หรือผู้ปกครอง

ข. ฝ่ายที่เป็นสามัญชน (ฝ่ายที่ถูกบริหาร หรือถูกปกครอง)



ก. ฝ่ายที่เป็นผู้บริหาร การบริหาร หรือการปกครองเป็นเรื่องที่ต้องมีการใช้อำนาจบังคับให้จำต้องปฏิบัติตาม กฎหมายปกครองจึงต้องกำหนดให้ผู้บริหารมีอำนาจบริหาร โดยกฎหมายปกครองจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๕ ข้อ คือ

(๑) สถาบัน คือสิ่งซึ่งทางราชการ หรือสังคมจัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการ และจำเป็นแก่วิถีชีวิตของคนในสังคม สถาบันในที่นี้หมายความถึงสถาบัน หรือองค์กรซึ่งใช้เป็นสถานที่ทำงานของบุคคลที่มาทำหน้าที่บริหาร เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงคมนาคม ฯ

(๒) ตำแหน่ง หมายความถึง ฐานะ หรือหน้าที่การงานของบุคคล ในที่นี้หมายความถึงหน้าที่การงานของบุคคลที่ทำงานในสถาบันนั้นๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นชื่อตำแหน่งของบุคคลที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกระทรวงมหาดไทย



(๓) อำนาจ หมายความถึง อิทธิพลที่จะบังคับให้บุคคลอื่นต้องยอมทำตามไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม อำนาจในที่นี้หมายถึงอำนาจโดยรวมของสถาบัน และอำนาจประจำตำแหน่งหน้าที่การงานต่างๆ (อำนาจเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจไว้โดยชัดแจ้ง)



(๔) หน้าที่ หมายความว่า กิจที่จะต้องทำ กิจที่ควรทำ วงแห่งกิจการ



ในที่นี้หมายความถึงหน้าที่ของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง และเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย โดยกฎหมายจะต้องบัญญัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆไว้โดยชัดแจ้งเช่น

ตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ตรวจตรา รักษาความสงบ จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย

ประธานศาลฎีกา มีหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม เพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๕)

(๕) ความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ รับผิดชอบหมายถึง ยอมตามผลที่ดีหรือไม่ดีในกิจการที่ได้กระทำไป คือทำดีก็ได้รับความดีความชอบได้รับเงินเดือนเพิ่ม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำไม่ดีหรือทำไม่ชอบอาจได้รับโทษทางวินัย หรือโทษทางอาญาตามกฎหมายอาญา



กฎหมายระเบียบบริหารราชการทุกฉบับจะระบุไว้ว่า ผู้มีตำแหน่งหน้าที่จะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ เช่น



พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๑ กำหนดให้ประธานศาลฎีกาต้องรับผิดชอบในงานของศาลฎีกาให้เป็นไปโดยเรียบร้อย



ข. ฝ่ายที่เป็นสามัญชน กฎหมายจะกำหนดให้สามัญชนมีแต่สิทธิ หน้าที่ และ ความรับผิดตามกฎหมาย ไม่ได้บัญญัติสามัญชน หรือบุคคลธรรมดามีอำนาจบังคับบัญชา หรือบังคับบุคคลอื่น ให้จำต้องกระทำตามที่ตนต้องการ หากต้องการจะบังคับจะต้องไปดำเนินการขอให้ผู้มีอำนาจบังคับให้

ความเป็นสามัญชนมีองค์ประกอบ ๔ ข้อ คือ

๑. สถานภาพ คือ ฐานะความเป็นอยู่ของบุคคลในสังคม เช่น ทารกในครรภ์มารดา ผู้เยาว์ สามี ภรรยา ผู้ไร้ความสามารถ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ คนสาบสูญ ฯ

๒. สิทธิ หมายความถึง ความสามารถในการที่จะกระทำการใดๆได้อย่างอิสระโดยมีกฎหมายรับรอง โดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น



สิทธิไม่ใช่อำนาจจึงไม่สามารถบังคับบุคคลอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนต้องการได้ เมื่อสิทธิถูกละเมิดผู้ทรงสิทธิต้องการปกป้องสิทธิ หรือรักษาสิทธิของตนจะต้องไปใช้สิทธิทางศาล



สิทธิของบุคคลมีหลายสิทธิ ได้แก่ สิทธิ์ในชีวิตร่างกาย สิทธิ์ในชื่อเสียเกียรติยศ สิทธิในทรัพย์ และสิทธิ์อื่นๆตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (รัฐธรรมนูญ หมวด ๓ มาตรา ๒๖-๖๕)

๓. หน้าที่ หมายความว่า กิจที่จะต้องทำ กิจที่ควรทำ (รัฐธรรมนูญฯ หมวด ๔ มาตรา ๖๖–๗๐)

๔. ความรับผิดตามกฎหมาย หมายความถึง ความมีหน้าที่ผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระหนี้ หรือกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง



(๒) กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อบังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน)

กฎหมายที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะกำหนดระเบียบความสัมพันธ์ของบุคคล เกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล สิทธิของบุคคล หน้าที่ของบุคคล ความรับผิดตามกฎหมายของบุคคล ได้แก่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน (ดูเรื่ององค์ประกอบของสามัญชน)





๓. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ.

ที่ผู้เขียนกล่าวว่า กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้เขียนนำมาจากความหมายของคำว่า “กฎหมาย” ความหมายที่ ๒ ที่หมายความว่า “กฎ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดคำนิยามไว้ว่า



“กฎ” (กฎ) น. ข้อกำหนด หรือข้อบัญญัติที่บังคับให้ต้องมีการปฏิบัติตาม



การบังคับ คือการใช้อำนาจสั่งให้ทำหรือให้ปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ (กฎหมายอาญา) หรืออาจถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม (การบังคับคดีทางแพ่ง)



กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับจะต้องมี บทบัญญัติ เป็น ๒ ส่วนคือ

(๑) ส่วนที่กำหนดว่าการใดเป็นความผิดกฎหมาย หรือกำหนดสิทธิและหน้าที่ และอำนาจของบุคคล และกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา (กฎหมายสารบัญญัติ) เช่นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา

(๒) ส่วนที่กำหนดแนวทาง หรือระเบียบวิธีการที่จะดำเนินการบังคับบุคคลที่ละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ต้องปฏิบัติ หรือรับผลตามกฎหมาย โดยจะกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐ และสิทธิและหน้าที่ของบุคคลธรรมดา (กฎหมายวิธีสบัญญัติ) เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา.



เมื่อได้ทราบความหมายของคำว่า “กฎหมาย” ตามสมควรแล้ว ต่อไปจะได้กล่าวถึงเรื่อง การตีความกฎหมาย



เนื่องจากกฎหมายไทยบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และต้องใช้ภาษาไทยที่เป็นภาษาราชการ ดังกล่าวแล้ว การจะทำความเข้าใจเรื่องการตีความกฎหมายว่า มีหลักเกณฑ์อย่างไร และมีวิธีตีความอย่างไร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบและทำความเข้าใจเรื่องดังต่อไปนี้ตามลำดับคือ

๑. ความหมายของคำว่า “ตีความ”

๒. หลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่บัญญัติเรื่องการตีความ



๑.ความหมายของคำว่า “ตีความ”



การที่เราจะตีความกฎหมายได้ เราจะต้องทราบว่า การตีความคืออะไรเสียก่อน ถ้าเราไม่ทราบความหมายของ คำว่า “ตีความ” เราอาจจะกระทำการอย่างอื่นที่ไม่เรียกว่าการตีความตามกฎหมายก็ได้ เช่น คิดเอาเองตามอำเภอใจตามความคิดเห็นของตนเองว่า ข้อความอย่างนี้ หรือถ้อยคำคำนี้ น่าจะมีความหมายว่า อย่างนี้ โดยไม่สนใจที่จะค้นหาความหมายของถ้อยคำที่เขียนไว้ในกฎหมายว่า ทางราชการได้กำหนดวามหมายไว้ว่าอย่างไร



ผู้ที่คิดและเข้าใจเช่นนั้น เมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่คิดเห็นและมีคำวินิจฉัยเช่นนั้นก็ไม่สามารถอธิบายที่มาแห่งความคิดเห็นได้ตามหลักวิชาการ ซึ่งจะต้องมีที่มาที่ไป คงยกเอาคำว่า “เจตนารมณ์” ขึ้นมาอ้าง เมื่อถามว่า เราจะไปหาเจตนารมณ์ได้ที่ไหนก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ ดังนั้นเรื่องคำนิยามศัพท์ของถ้อยคำที่เป็นภาษาราชการจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เพราะคำนิยามจะเป็นเครื่องสื่อความหมายให้ทุกคนเข้าใจความหมายของถ้อยคำ ได้เป็นอย่างเดียวกัน และจะต้องเป็นคำนิยามที่ทางราชการให้การรับรองด้วย ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางดังต่อไปนี้.



ถ้อยคำแรกที่จะต้อง ตีความ หรือ หาคำนิยามความหมาย ให้ถูกต้องตรงตาม ภาษาหนังสือไทย ที่ทางราชการกำหนดไว้ก็คือ ความหมายของคำว่า “ตีความ” เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “ตีความ” ตรงกันแล้ว การตีความกฎหมาย หรือ นิติกรรม, สัญญา, หรือ เอกสารอื่นใด ก็จะตีความไปในแนวทางเดียวกัน ไม่เขียน หรือ พูดกันคนละภาษา ตีความคนละวิธี ซึ่งไม่อาจหาข้อยุติที่ชัดเจนได้.



การที่เราจะเขียน และ พูดภาษาเดียวกัน จะต้องมีหลักวิชาที่เป็นทางราชการ ที่สามารถจะหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงเพื่อยุติข้อโต้เถียง หรือข้อขัดแย้งต่างๆได้



หนังสือตำราภาษาไทยที่ทางราชการได้จัดทำขึ้น เพื่อกำหนดคำนิยามความหมายของถ้อยคำ หรือ ข้อความ ในภาษาไทย และประกาศเป็นระเบียบให้ใช้บังคับแก่ทางราชการ และทางโรงเรียน ฉบับที่มีการปรับปรุงหลังสุด ได้แก่ หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังเหตุผลที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วข้างต้น



ดังนั้นเมื่อต้องการทราบความหมายของคำว่า “ตีความ” ก็จะต้องค้นหาความหมายมาจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่า “ตีความ” ไว้ว่า



“ตีความ” . (กฎ) ก. วิเคราะห์ ถ้อยคำ หรือ ข้อความ ใน กฎหมาย นิติกรรม สัญญา หรือ เอกสารอื่นๆ ที่มีปัญหาสงสัย หรือ ที่มีความหมายไม่ชัดเจน เพื่อ กำหนดความหมายอันแท้จริง ของถ้อยคำ หรือ ข้อความนั้นๆ เช่น ตีความกฎหมาย.



จากคำนิยามความหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่ายังมีถ้อยคำที่ต้องหาคำนิยามความหมายให้ชัดเจนต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า “ตีความ” กว้างขวาง และชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่ถ้อยคำต่อไปนี้



“วิเคราะห์” ก. ใคร่ครวญ, คิดย้อนกลับทำซ้ำอีกเพื่อให้แม่นยำ, แยกออกเป็นส่วนๆ.

“ใคร่ครวญ” ก. ตริตรอง, พิจารณา, คิดทบทวน.

“ถ้อย” น. คำพูด

“คำ” น. เสียงพูด หรือ ลายลักษณ์อักษร ที่เขียน หรือ พิมพ์เพื่อ แสดงความคิด.

“ถ้อยคำ” น. หมายความว่า คำที่กล่าว.

“ข้อความ” น. เนื้อความตอนหนึ่งๆ, ใจความสั้นๆของเรื่อง.

“กล่าว” ก. บอก แจ้ง พูด เช่นกล่าวคำเท็จ.



คำว่า “ถ้อยคำ” และ “ข้อความ” ในกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการตีความกัน จึงหมายถึงเฉพาะที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ ตัวหนังสือเท่านั้น เพราะการบัญญัติกฎหมายจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องใช้ภาษาหนังสือไทย ทั้งตัวสะกด และคำนิยามความหมาย ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ และร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว จะต้องได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา แล้วจึงจะใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๙๓).



เมื่อทราบความหมายของถ้อยคำต่างๆแล้ว อาจกล่าวให้เข้าใจเป็นภาษาสามัญได้ง่ายๆว่า การตีความกฎหมาย หมายถึงการหยิบยกเอาตัวอักษร ที่เขียนไว้ เป็นถ้อยคำ หรือ ข้อความ ในกฎหมายทุกคำมาวิเคราะห์ เพื่อหาคำนิยามความหมายที่ถูกต้องแท้จริงตามที่ทางราชการกำหนดไว้ว่า แต่ละถ้อยคำ มีความหมายอย่างไร และ เมื่อนำมาเรียงเป็นข้อความเป็นรูปประโยค ตามหลักไวยากรณ์ มีประธาน กริยา กรรม เป็นคำนาม คำกริยา คำช่วยกริยา กริยาวิเศษณ์ คำบุรพบท ฯ เมื่อเป็นวรรค เป็นมาตรา ในกฎหมาย แล้วมีความหมายอย่างไร เนื่องจาก ตัวอักษรที่ได้ตรา หรือ บัญญัติไว้นั้น เป็นเครื่องสื่อความหมายให้ทราบถึงความประสงค์ หรือ ความมุ่งหมาย หรือ ความต้องการเฉพาะ หรือ เจตนารมณ์ ของกฎหมาย.



เจตนารมณ์ของกฎหมาย คือเจตนารมณ์ หรือความมุ่งหมายของผู้มีอำนาจตรากฎหมายดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และ ต้องถือว่า ผู้บัญญัติกฎหมายใช้ถ้อยคำที่เป็นภาษาหนังสือไทย ที่เป็น ภาษาราชการ ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.๒๕๔๒ ในการบัญญัติกฎหมาย



มีข้อที่ควรระวังว่า

การตีความจะต้องไม่มีการ การเติมความ คือเพิ่มเติมตัวอักษร หรือข้อความ เข้าไปในถ้อยคำ หรือ ข้อความ ที่กำลังตีความ และต้องไม่มี การตัดความ คือตัดตัวอักษร หรือข้อความ ที่มีอยู่ในเอกสารที่กำลังจะตีความออกไปเสียบ้าง.



เมื่อทราบความหมายของคำว่า ตีความแล้ว ควรได้ทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตีความด้วย ได้แก่

๑. เหตุใดจึงต้องมีการตีความ.

๒. บุคคลผู้มีหน้าที่ตีความ.

๓. สถาบันที่มีอำนาจชี้ขาดเรื่องการตีความ.

๔. สาเหตุที่ทำให้เกิดข้อโต้เถียงกันจนต้องมีการตีความ.



๑. เหตุใดจึงต้องมีการตีความกฎหมาย

การที่ต้องมีการตีความกฎหมาย เนื่องจาก ถ้อยคำ หรือ ข้อความ ใน กฎหมาย มีความหมายไม่ชัดเจน หรือ ที่มีปัญหาสงสัย หรือ ที่มีข้อโต้เถียงกันจนหาข้อยุติไม่ได้ จึงต้องมี การตีความ เพื่อกำหนดความหมายอันแท้จริงของ ถ้อยคำ หรือ ข้อความนั้นๆ.



การที่เกิดมีข้อโต้เถียงกัน อาจเป็นได้ว่า เนื่องจาก ฝ่ายหนึ่งทราบคำนิยามความหมายที่เป็นทางราชการของถ้อยคำที่เขียนไว้ในกฎหมาย จึงรู้และเข้าใจกฎหมายถูกต้อง แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้และไม่เข้าใจ หรือ อาจแกล้งไม่รู้ หรือไม่รู้ทั้งสองฝ่าย.



๒. ผู้ที่มีหน้าที่ตีความกฎหมาย

ผู้ที่มีหน้าที่ตีความกฎหมาย ได้แก่ ผู้ที่จะใช้กฎหมาย เมื่ออ่านกฎหมายแล้วหากไม่ตีความตาม หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ตีความตามความรู้สึก หรือ ความเข้าใจของตนเอง และไม่ถือเอาคำนิยามความหมาย ของถ้อยคำ หรือ คำศัพท์ ตามที่กฎหมาย หรือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กำหนดไว้ เราอาจใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเป็นโทษแก่ตนเอง หรือ ผู้อื่นได้ และ ถ้าผู้ตีความเป็นผู้มีอำนาจตุลาการ หรือ อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน หรือมีอำนาจอิสระในองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรือปวงชนชาวไทยได้.



๓. สถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ชี้ขาดในการตีความกฎหมาย

ในกรณีที่มีคดีความขึ้นสู่ศาล คือเมื่อคู่ความมีความเห็นไม่ตรงกัน หรือ ขัดแย้งกัน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ หรืออำนาจ แล้วนำคดีมาสู่ศาล อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ซึ่งรวมทั้งการวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อเท็จจริง และปัญหาข้อกฎหมายเป็นของศาล



การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย คือการตีความข้อกฎหมายอย่างหนึ่ง



สถาบันศาล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มี ๔ สถาบัน คือ

(๑) ศาลรัฐธรรมนูญ.

(๒) ศาลยุติธรรม.

(๓) ศาลปกครอง.

(๔) ศาลทหาร.



ศาลแต่ละศาลมีอำนาจหน้าที่ ตามที่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาล แต่ละศาล พระธรรมนูญศาลยุติธรรม และ กฎหมายวิธีพิจารณาความต่างๆบัญญัติไว้.



การปฏิบัติหน้าที่ของศาล ของผู้พิพากษา และ ของตุลาการ ตามอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ ก็จะต้อง ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และ ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๓๓) จะทำตามอำเภอใจไม่ได้

.

การตีความข้อกฎหมายของศาลเป็นการพิจารณา พิพากษาคดีอย่างหนึ่งจึงต้องกระทำตามที่กฎหมายกำหนด บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร ที่สามารถยกขึ้นมาอ้างอิงเป็นทางราชการได้ได้แก่



ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔



มาตรา ๔ กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น

เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตาม จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบ บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป



บทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ กล่าวถึงเรื่องการใช้กฎหมายตามตัวอักษร ซึ่งหมายความว่า เมื่อมีกฎหมายเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรการตีความกฎหมายต้องตีความตามตัวอักษรที่รัฐสภานำมาเขียนไว้เป็นข้อความในกฎหมาย

และเมื่อ กฎหมายไทยเขียนไว้ด้วยตัวหนังสือไทย หรือตัวอักษรไทย การหาความหมายของถ้อยคำ หรือข้อความในกฎหมายไทย จึงต้องใช้หนังสือตำราภาษาไทย เรื่องระเบียบการใช้ตัวสะกด และคำนิยามความหมาย ซึ่งมีอยู่ฉบับเดียวคือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

เรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทางราชการเห็นความสำคัญถึงกับบัญญัติเป็นบทบังคับให้ศาล ต้องใช้ภาษาไทย ตามที่กฎหมายกำหนด ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล กฎหมายดังกล่าวได้แก่





ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๖



มาตรา ๔๖ บรรดากระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีแพ่งทั้งหลายซึ่งศาลเป็นผู้ทำนั้น ให้ทำเป็นภาษาไทย

บรรดาคำคู่ความ และเอกสาร หรือแผ่นกระดาษ ไม่ว่าอย่างใดๆ ที่คู่ความหรือศาล หรือเจ้าพนักงานศาลได้ทำขึ้นซึ่งประกอบเป็นสำนวนของคดีนั้น ให้เขียนเป็นหนังสือไทย และเขียนด้วยหมึกหรือดีดพิมพ์หรือตีพิมพ์ ถ้ามีผิดตกที่ใดห้ามมิให้ขูดลบออก แต่ให้ขีดฆ่าเสียแล้วเขียนลงใหม่และผู้เขียนต้องลงชื่อไว้ที่ริมกระดาษ ถ้ามีข้อความตกเติมให้ผู้ตกเติมลงลายมือชื่อหรือลงชื่อย่อไว้เป็นสำคัญ

ถ้าต้นฉบับเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใด ๆ ที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ศาลสั่งคู่ความฝ่ายที่ส่งให้ทำคำแปลทั้งฉบับ หรือเฉพาะแต่ส่วนสำคัญโดยมีคำรับรองมายื่นเพื่อแนบไว้กับต้นฉบับ

ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดที่มาศาล ไม่เข้าใจภาษาไทย หรือเป็นใบ้หรือหูหนวกและอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ ให้คู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดหาล่าม

คำว่า “ภาษาไทย” ในวรรคแรกหมายความถึง “ภาษาพูด” ส่วนคำว่า “หนังสือไทย” ในวรรค ๒ หมายความถึง “ภาษาหนังสือ” ซึ่งหมายความถึงภาษาพูด และ ภาษาหนังสือ ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เท่านั้น



๔. สาเหตุที่เกิดมีข้อโต้เถียงกันจนต้องมีการตีความ

สาเหตุที่เกิดมีข้อโต้เถียงกันจนต้องมีการตีความมีหลายประการ คือ

(๑) ถ้อยคำ ในภาษาไม่อาจเขียนอธิบาย เพื่อสื่อความหมายให้ทราบถึงความประสงค์ที่แท้จริงที่อยู่ในจิตใจของบุคคล หรือ ไม่สามารถบรรยายให้ทราบถึงลักษณะอาการที่แสดงออกของบุคคลได้ละเอียดตรงกับความจริงได้ทุกกรณี และ ทุกเรื่อง จึงทำให้เกิดมีการแปลความหมาย หรือ ตีความแตกต่างกันไป ตามความคิด และความเห็นของแต่ละคน.

(๒) ถ้อยคำ ที่เขียนไว้ อาจมีความหมายได้หลายความหมาย หรือ หลายนัย.

(๓) คนที่อยู่ต่างภาค ต่างท้องถิ่นกัน มีภาษาพูดต่างกัน ต่างเข้าใจความหมายของ ถ้อยคำ คำเดียวกัน แตกต่างกัน ต่างโต้เถียงกัน และไม่มีทางหาข้อยุติได้.

(๔) คนที่อยู่ต่างอาชีพกัน กำหนดคำนิยามของถ้อยคำคำเดียว แตกต่างกัน.

(๕) การมีความรู้ ความเข้าใจ ภาษาไทยตามหลักไวยากรณ์ แตกต่างกัน.

(๖) การไม่ทราบคำนิยาม หรือ ความหมายที่ถูกต้อง ของภาษาไทย ที่เป็นภาษาราชการ. (ความหมาย ตาม บทนิยามในกฎหมาย และ ความหมาย ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ถือว่า เป็นความหมายตามภาษาราชการ)

(๗) ความไม่เข้าใจกฎหมาย เพราะไม่ได้ศึกษากฎหมายทั้งระบบ ซึ่งมีกระบวนการ และวิธีการในการใช้บังคับกฎหมายให้ครบถ้วน. เนื่องจากกฎหมาย มีส่วนประกอบ ๒ ส่วน คือ กฎหมายสารบัญญัติ และ กฎหมายวิธีสบัญญัติ ซึ่งแต่ละประเภทมีองค์ประกอบ และวิธีอ่านแตกต่างกันไปบ้าง.



(๘) การไม่ทราบ และไม่เข้าใจว่า มีกฎหมายบัญญัติหลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมายไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา ๔, ๑๗๑, ๓๖๘, ๑๖๘๔ )

(๙) เข้าใจกฎหมายดี แต่แสร้งเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือ พวกพ้อง.



อธิบาย

กรณีของ ถ้อยคำ คำเดียวกัน เขียนตัวสะกดเหมือนกัน เปล่งเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน เช่น

คำว่า “ส้วม” ภาษาราชการ หมายความว่า น. สถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ มักทำเป็นห้อง. แต่ ภาษาท้องถิ่นทางภาคอีสาน หมายความว่า ห้องนอน.



การเข้าใจความหมายของถ้อยคำ คำเดียวกัน แตกต่างกัน อาจมีผลเสียหายมากถึงขนาดคดีที่ควรชนะกลับเป็นแพ้ได้ เช่น คำเบิกความของพยานในศาล ในการพิจารณาคดีอาญา เรื่องปล้นทรัพย์ พยานที่เป็นคนท้องถิ่นทางภาคอีสานไม่เข้าใจภาษาราชการ เพราะขาดการศึกษา เบิกความว่า “จำเลยจับผู้เสียหายไปขังไว้ในส้วม” แต่พยานที่เป็นคนทางภาคกลาง เบิกความว่า “จำเลยจับผู้เสียหายไปขังไว้ในห้องนอน” ผู้พิพากษาผู้บันทึกคำพยานไม่ทราบว่า พยานที่เป็นคนทางภาคอีสานเบิกความด้วยภาษาท้องถิ่น ก็บันทึกคำเบิกความไปตามเสียงที่ได้ยิน เป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลย เพราะประจักษ์พยานของโจทก์เบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นสาระสำคัญในคดี ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักมั่นคงให้ศาลรับฟังว่ามีการกระทำความผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามคำฟ้อง.



กรณีข้อความ ที่มีความหมายไม่ชัดเจน หรือ มีปัญหาสงสัย

การที่ข้อความ มีความหมายไม่ชัดเจน หรือ มีปัญหาสงสัย อาจเนื่องมาจาก

๑. ผู้เขียน หรือ ผู้พิมพ์ เขียน หรือ พิมพ์ผิด ไม่ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการใช้ถ้อยคำตามพจนานุกรมฯ หรือเขียนหวัดจนอ่านข้อความได้เป็นอย่างอื่น

๒.การใช้ถ้อยคำไม่ถูกเพราะเข้าใจความหมายของถ้อยคำผิดจากที่กฎหมาย หรือ พจนานุกรมฯ กำหนดไว้.

๓. เขียน หรือพิมพ์โดย เว้นวรรคระหว่างคำ หรือ ระหว่างประโยคไม่ถูกต้อง.



ตัวอย่าง

กรณีใช้ถ้อยคำไม่ถูกต้องตามบทกฎหมาย เช่น



ใช้คำว่า “ให้ลงโทษจำคุก” แทนคำว่า “กำหนดโทษจำคุก” ในเรื่อง การรอการลงโทษจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ซึ่ง ข้อความทั้งสองข้อความนี้ มีความหมายแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน



ข้อความว่า “ให้ลงโทษจำคุก” หมายความว่า สั่งบังคับให้เอาไปลงโทษด้วยวิธีขังไว้ในคุก หรือเรือนจำ และจะต้องมีการออกหมายจำคุก (หมายแดง) ซึ่งเป็นหมายบังคับคดีอาญา (ป.วิอาญา มาตรา ๗๔, ๒๔๕ )



ข้อความว่า “กำหนดโทษจำคุก” หมายความว่า ตั้งจำนวนโทษจำคุกที่จะลงโทษแก่ผู้กระทำผิดไว้เท่านั้น ยังไม่ได้สั่งบังคับให้ลงโทษ.



กรณีเว้นวรรคไม่ถูกต้อง

ปัจจุบันนี้ คนไทยเราส่วนมาก เขียนหนังสือ ติดกันเป็นพืด ไม่มีเว้นวรรคระหว่างคำ และไม่มีเว้นวรรคระหว่างประโยค บางครั้งก็เขียน หรือพิมพ์เว้นวรรคไม่ถูกต้อง ในกรณีไม่มีการเว้นวรรค ผู้อ่านจะต้องอ่านแล้วเว้นวรรคเอาเองตามความชำนาญชองแต่ละคน ดังนั้น หากอ่านเว้นวรรคต่างที่กัน ความหมายก็จะแตกต่างกันไป เช่น.

ข้อความว่า “ขี้หมาข้ากินหมดแล้ว” หากเขียนเว้นวรรคต่างที่กันความหมาย จะแตกต่างกันเป็นตรงกันข้าม คือ

ขี้ หมาข้า กินหมดแล้ว หมายความว่า หมาของข้า กินขี้หมดแล้ว.

ขี้หมา ข้า กินหมดแล้ว หมายความว่า ข้า กิน ขี้หมา หมดแล้ว.



ข้อความว่า “ยานี้ดีกินแล้วแข็งแรงไม่มีโรคเบียดเบียน” ถ้าเขียนเว้นวรรคต่างที่กัน ความหมายก็จะแตกต่างกัน คือ



ถ้าเขียนว่า “ยานี้ดี กินแล้วแข็งแรง ไม่มีโรคเบียดเบียน” หมายความว่า ยาดี กินแล้วมีความแข็งแรง และทำให้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนร่างกาย.

ถ้าเขียนว่า “ยานี้ดี กินแล้วแข็ง แรงไม่มี โรคเบียดเบียน” หมายความว่า ยาดี กินแล้วแข็ง ไม่บอกว่าอะไรแข็ง แถมยัง ทำให้ไม่มีแรง และ ยังมีโรคภัยมาเบียดเบียนร่างกายอีกด้วย.


 หลักเกณฑ์ของกฎหมายในเรื่องการตีความ

การตีความ ต้องตีความตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ เป็นกรอบให้ปฏิบัติ เพราะการตีความข้อกฎหมายถือว่าเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างหนึ่ง (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๓๓) มิใช่ต่างคนต่างตีความ ตามความเห็น และ ความคิดของตน หากตีความตามความเห็นของแต่ละคน บ้านเมือง และสังคมจะเกิดความสับสน ไม่มีใครยอมใคร และหาข้อยุติไม่ได้ ดังนั้น รัฐสภาจึงได้บัญญัติหลักกฎหมายในเรื่องการตีความไว้ ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม หากกฎหมายใดต้องการจะให้มีวิธีการตีความแตกต่างไปจากหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นการทั่วไปแล้ว จะต้องกล่าวไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายฉบับนั้น จึงจะมีผลผูกพันให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม มิใช่เก็บเอาไว้เพื่อทราบกันเฉพาะผู้ร่างกฎหมาย หรือคณะรัฐมนตรี หรือ สมาชิกรัฐสภาคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น.



กฎหมายที่บัญญัติหลักเกณฑ์ เรื่องการตีความ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนด เรื่องการตีความไว้ ๔ ประการ คือ

๑. การตีความกฎหมาย (มาตรา ๔)

๒. การตีความแสดงเจตนา (มาตรา ๑๗๑)

๓. การตีความสัญญา (มาตรา ๓๖๘)

๔. การตีความพินัยกรรม (มาตรา ๑๖๗๓–๑๖๘๕)

๑. การตีความกฎหมาย

๒. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ บัญญัติว่า



มาตรา ๔ กฎหมายนั้น ต้องใช้ ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมาย ตามตัวอักษร หรือ ตามความมุ่งหมาย ของบทบัญญัตินั้นๆ

เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และ ถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป.



บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง หมายความว่า เมื่อมีตัวบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ การตีความกฎหมาย จะต้องเริ่มต้นด้วยการตีความตามถ้อยคำที่เป็น ตัวอักษร ก่อน เพราะตัวอักษร หรือ ตัวหนังสือ คือ เครื่องหมายที่ใช้ขีดเขียนแทนเสียง หรือ คำพูด ซึ่งทางราชการได้มีการกำหนดคำนิยามความหมายไว้ เพื่อให้เข้าใจความหมายตรงกัน และเป็นหลักฐานที่สามารถตรวจพบ และอ้างอิงได้ ในทางราชการ เมื่ออ่านถ้อยคำที่เป็นตัวอักษร หรือ ตัวหนังสือ และหาคำนิยามความหมายตามตัวอักษรแล้วยังหาความหมายที่ชัดเจนจนเป็นข้อยุติไม่ได้ จึงค่อยไปพิจารณาถึง ความมุ่งหมาย ของบทบัญญัตินั้นๆ.



การตีความ ตามตัวอักษร

การตีความตามตัวอักษร จะต้อง หาคำนิยามความหมาย ของถ้อยคำ ที่เขียน หรือ พิมพ์ไว้เป็นตัวอักษร ตามที่ทางราชการกำหนดไว้ เนื่องจาก กฎหมายเขียนไว้ หรือ บัญญัติไว้ ด้วยภาษาราชการ ไม่ได้เขียนด้วยภาษาปาก หรือ ภาษาพูด หรือ ภาษาท้องถิ่น หรือ ภาษาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือ คนใดคนหนึ่ง.

ภาษาราชการ คือ ภาษา ที่ทางราชการบัญญัติไว้ มี ๒ ประเภทคือ

(๑) คำศัพท์ หรือ คำนิยามความหมายที่ทางราชการบัญญัติไว้ เพื่อใช้ในทางราชการ และ ทางโรงเรียน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งสามารถค้นหาคำนิยามความหมายที่เป็น ภาษาราชการ ได้จาก หนังสือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒



(๒) บทวิเคราะห์ศัพท์ หรือ คำนิยาม ในกฎหมาย เป็นคำศัพท์ ที่กฎหมาย แต่ละฉบับ ได้บัญญัติขึ้นไว้ เพื่อใช้ในกฎหมายแต่ละฉบับเป็นการเฉพาะ ซึ่งถือได้ว่า เป็นภาษาราชการ เช่นเดียวกัน ซึ่งจะอยู่ใน ภาคแรก หรือส่วนแรกของกฎหมาย และจะอยู่ในมาตราแรกๆ เช่น ใน ภาค ๑ ลักษณะ๑ มาตรา ๑ ของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และมาตรา ๒ ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา.



ถ้าความหมายตามที่บัญญัติไว้ในพจนานุกรม แตกต่างจาก ความหมายที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ต้องถือความหมายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้.



ความหมายของถ้อยคำตามตัวอักษร จึงมีความสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่รู้ความหมายที่ถูกต้อง ของคำศัพท์ภาษาไทย ที่เป็น ภาษาราชการ แต่ละคำ ที่เขียนเรียงกันไว้ เป็นข้อความ เป็นประโยค เป็นวรรค ตามหลักไวยากรณ์ เราก็ไม่สามารถทราบความหมายที่ถูกต้องแท้จริงได้ และเป็นการแน่นอนว่า เราไม่อาจทราบถึง ความมุ่งหมาย หรือ เจตนารมณ์ ที่แท้จริงของบทบัญญัตินั้นๆได้ และทำให้เราไม่สามารถตีความกฎหมาย อย่างถูกต้องได้.



ความมุ่งหมายของกฎหมายคืออะไร?

เนื่องจากมีการกล่าวอ้างเอา เจตนารมณ์ ของกฎหมาย ขึ้นมาเป็นเหตุผลเพื่อประกอบการตีความข้อกฎหมายของตน เพื่อหักล้างการตีความข้อกฎหมายของ ผู้ที่ตีความตามตัวอักษร ว่าตีความไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ทราบคำนิยามความหมายของคำว่า “ความมุ่งหมาย” และ คำว่า “เจตนารมณ์” ตามที่ทางราชการได้กำหนดไว้ เสียก่อน และเป็นการแน่นอนว่า จะต้องแปลความหมาย หรือหาคำนิยามความหมาย จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน เช่นเดียวกัน ซึ่งได้กำหนดคำนิยามไว้ว่า



“มุ่งหมาย” หมายความว่า เจาะจง, ตั้งใจเฉพาะ, เจตนารมณ์.



ความมุ่งหมายของกฎหมาย จึงหมายความว่า ความตั้งใจเฉพาะ หรือ เจตนารมณ์ของกฎหมาย นั้นเอง.



จะหาเจตนารมณ์ หรือ ความมุ่งหมาย ของกฎหมายได้จากที่ไหน

การค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย มิใช่เอามาจากความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าบุคคลนั้น จะเป็นผู้ร่างกฎหมาย หรือ กรรมการร่างกฎหมาย หรือ สมาชิกรัฐสภาคนใดคนหนึ่ง หรือ กลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง หรือ ความเห็นของอาจารย์สอนกฎหมายคนใดคนหนึ่ง เพราะความเห็นดังกล่าว มิใช่คำนิยามความหมายของถ้อยคำ หรือข้อความที่ทางราชการกำหนดให้ใช้ เสมอไป



สำหรับ ร่างกฎหมายที่ได้ทำการยกร่างกันขึ้นมาแล้วนั้น ยังไม่เป็นกฎหมาย ที่ทุกคนจะต้องถือตาม หรือปฏิบัติตาม ยังจะต้องผ่านกระบวนการในการบัญญัติกฎหมาย อีกหลายขั้นตอน ตามระบบรัฐสภา คือจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาได้ และ เมื่อเป็นกฎหมายแล้วทุกคนต้องปฏิบัติตาม.



นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ข้อความประโยคเดียวกัน หรือ ถ้อยคำ คำเดียวกัน ผู้ร่างกฎหมาย กับ สมาชิกรัฐสภา มีความเข้าใจไม่เหมือนกัน ดังนั้นการหาเจตนารมณ์ หรือ ความมุ่งหมายของกฎหมาย จะต้องหาจากหลักฐานที่เป็นทางราชการและมีกฎหมายรับรอง ได้แก่

๑. ชื่อของกฎหมาย หรือ ชื่อของพระราชบัญญัติ

๒. ข้อความในพระราชบัญญัติให้ใช้กฎหมายแต่ละฉบับ

๓. บทบัญญัติทั่วไป หรือ ข้อความเบื้องต้นในกฎหมายแต่ละฉบับ

๔. บทนิยาม หรือ บทวิเคราะห์ศัพท์

๕. คำปรารภในการบัญญัติกฎหมาย

๖. หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ

๗. บทบัญญัติในกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวพัน หรือสัมพันธ์ กัน หรือ ที่มีกระบวนการต่อเนื่องกัน หรือ มีการกล่าวอ้างถึง กระบวนการ หรือ ข้อความในกฎหมายฉบับนั้น



สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็จะต้องมีการบันทึกไว้เป็น ตัวหนังสือ หรือ ลายลักษณ์อักษรของทางราชการ ที่สามารถค้นหามาอ้างอิงได้โดยมีกฎหมายรับรอง จะเอามาจากคำพูดของคนใดคนหนึ่งแม้ว่าจะเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย หรือความเห็นของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นการกล่าวอ้างลอยๆไม่มีกฎหมายรับรองไม่ได้.



ชื่อของกฎหมาย บ่งบอกถึงเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฎหมายได้ส่วนหนึ่ง เช่น

“รัฐธรรมนูญ” คือ กฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ

“กฎหมายแพ่ง” คือ กฎหมายที่วางระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างบุคคล เกี่ยวกับ สถานภาพ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดตามกฎหมาย.

“กฎหมายพาณิชย์” คือ กฎหมาย ที่วางระเบียบความเกี่ยวพัน ทางการค้า หรือธุรกิจ ระหว่างบุคคล.

“กฎหมายอาญา” คือ กฎหมายที่กำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่า เป็นความผิด และ กำหนดบทลงโทษทางอาญา สำหรับความผิดนั้น.

“กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” คือ กฎหมายที่กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญา เพื่อที่จะดำเนินการนำตัวผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายอาญา มาลงโทษ ตามที่กฎหมายอาญากำหนดไว้.

“พระธรรมนูญศาลยุติธรรม” คือ กฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบศาลยุติธรรม

“พระราชบัญญัติ” บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา คำว่าพระราชบัญญัติเป็นคำที่ใช้นำหน้าชื่อกฎหมายต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ ๒๕๓๔ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ ๒๕๔๐



พระราชบัญญัติจะมีชื่อต่างๆกัน ตามลักษณะของกฎหมาย เช่น

“พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน” เป็นกฎหมายที่วางระเบียบการปฏิบัติราชการของเจ้าพนักงานของรัฐ และกำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน หรือสามัญชนกับ เจ้าพนักงานของรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าพนักงานของรัฐด้วยกัน

พระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบัน หรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เช่น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลต่างๆ เป็นต้น.

“พระราชกำหนด” (กฎ) น. บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยอํานาจบริหารให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติในกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือในระหว่างสมัยประชุมของรัฐสภาถ้ามีความจําเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน.

“พระราชกฤษฎีกา” (กฎ) น. บทบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน

“เทศบัญญัติ” (กฎ) น. บทกฎหมายที่เทศบาลตราขึ้นเพื่อใช้บังคับภายในเขตเทศบาลนั้น.



กฎหมายที่สัมพันธ์ หรือ เกี่ยวพันกัน หรือ มีกระบวนการต่อเนื่องกัน ได้แก่ กฎหมายสารบัญญัติ กับ กฎหมายวิธีสบัญญัติ จะต้องใช้ประกอบกันจึงจะมีสภาพบังคับ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา หากไม่มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้บังคับ ก็ไม่สามารถดำเนินการบังคับ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมา ลงโทษตามที่กฎหมายอาญา บัญญัติไว้.



กฎหมายที่มีการกล่าวถึงบทบัญญัติในกฎหมายฉบับอื่น การตีความก็จะต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาประกอบการตีความด้วย เช่น



ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีบทบัญญัติให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม.(มาตรา๑๕)



กฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวอ้างถึง การพิจารณาพิพากษา และการลงโทษในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การตีความรัฐธรรมนูญ จึงต้องนำบทบัญญัติในกฎหมายอาญา และ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาพิจารณาประกอบด้วย เช่น



รัฐธรรมนูญฯ กล่าวถึง การที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกรัฐมนตรี



การตีความข้อความในรัฐธรรมนูญ มาตราดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบว่า โทษ คืออะไร, การลงโทษ คืออะไร, จำคุกหมายถึงอะไร, หมายจำคุกคืออะไร, คำพิพากษา คืออะไร, อำนาจของศาล, หน้าที่ของศาล, เขตอำนาจศาล, ผลของคำพิพากษา, ขั้นตอน และ วิธีการในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีอาญา ฯลฯ เพราะถ้อยคำ หรือ คำศัพท์ แต่ละคำ ล้วนแต่มีคำนิยามความหมายไว้ให้เป็นหลักในการแปล หรือ การตีความ ถ้อยคำ หรือ ข้อความ แล้วทั้งสิ้น.






อ่านเพิ่มได้ที่นี้นะค่ะ


คลิกทำแบบทดสอบ